ปกติแล้วคนเราจะมีคราบจุลินทรีย์จับบนฟันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะที่คอฟัน (บริเวณขอบเหงือก) และซอกฟัน เมื่อเวลาผ่านไปคราบจุลินทรีย์จะแข็งตัวขึ้นจนเป็นหินปูนซึ่งไม่สามารถแปรงออกได้ เป็นสาเหตุให้เกิดเหงือกอักเสบและมีผลเสียอีกหลายประการเช่น
- เหงือกอักเสบบวมแดง มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
- เหงือกร่น ทำให้เกิดอาการเสียวฟันตามมา
- กลิ่นปาก
- ฟันดูเหลืองไม่สวยงาม
- ฟันโยก
หากหินปูนสะสมมากเป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคปริทันต์ มีอาการปวดฟัน, ฟันโยก และหลุดไปได้เอง
ระยะเวลาการขูดหินปูน
ขึ้นอยู่กับอาการและปริมาณของคราบหินปูน ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
คำถามที่พบบ่อยๆในการขูดหินปูน
- ควรเริ่มขูดหินปูนตั้งแต่อายุเท่าไหร่
ได้ทุกวัย ตั้งแต่วันเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้น จนกระทั่งผู้สูงอายุ - ควรขูดหินปูนบ่อยแค่ไหน
ระยะแรกๆหลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดภายใน 3 เดือน ถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดีไม่มีเหงือกอักเสบหรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนทุก 6 เดือน – 1 ปี - การขูดหินปูน ทำให้ฟันบางลงหรือไม่
การขูดหินปูนนั้น เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์, หินปูน และคราบสีต่างๆออกไปจากบนฟันเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้เนื้อฟันบางลง - การขูดหินปูนบ่อยๆมีผลกระทบต่อฟันหรือไม่
ภายหลังการขูดหินปูนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันและมีการเจ็บเหงือกบ้างบางครั้ง แต่การดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้องจะทำให้อาการดังกล่าวหายไปได้เอง